วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คดี การฟ้องให้ระงับกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี

คดี การฟ้องให้ระงับกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
และให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี

โดยผู้ฟ้องคดี

ตามที่ผู้ฟ้องคดีหกคน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองระยอง เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2553 และศาลได้รับคำฟ้อง เมื่อวันพุธที่ 13 มกราคม 2553 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เรื่อง เกณฑ์คุณลักษณะและการให้น้ำหนักแต่ละเกณฑ์ในการพิจารณาสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 เนื่องจากประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีดังกล่าว ไม่ได้กำหนดน้ำหนักของหลักเกณฑ์การสรรหาแต่ละข้อ ตามข้อ 8 วรรคหนึ่งของข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยคุณสมบัติและการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2552 ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ศึกษาและประเมินความต้องการของมหาวิทยาลัยตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยและความต้องการของหัวหน้าส่วนงานของมหาวิทยาลัยและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การสรรหาและกำหนดน้ำหนักของหลักเกณฑ์การสรรหาแต่ละข้อ แต่เกณฑ์การให้น้ำหนัก ตามประกาศดังกล่าวนี้เป็นเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินคุณลักษณะแต่ละด้านเท่านั้น มิใช่เป็นการกำหนดน้ำหนักของหลักเกณฑ์การสรรหาแต่ละข้อ

ศาลปกครองระยองได้มีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากโดยนิตินัยไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวจากการกำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดน้ำหนักของหลักเกณฑ์การสรรหาแต่ละข้อ ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 - นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพาในฐานะผู้รักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับ


หมายเหตุ: ศาลปกครองระยองได้รับคำฟ้องของนายพิสิษฐ์ บึงบัว (อาจารย์วิทยาเขตสระแก้ว) ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 4 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 3 คน

10 กุมภาพันธ์ 2553

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ชี้ชะตา ม.บูรพา จะอยู่หรือไป

ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดี การฟ้องให้เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา 3 ฉบับ
โดย ผู้ฟ้องคดี

ตามที่ผู้ฟ้องคดีหกคน (ซึ่งเป็นข้าราชการ) ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองระยอง
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา
3 ฉบับ เนื่องจากทำให้ข้าราชการไม่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกับพนักงานมหาวิทยาลัย กล่าวคือ

(1) ทำให้ข้าราชการไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ตามมาตรา 19 (5) ประเภทผู้แทนคณาจารย์ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2550
(2) ทำให้ข้าราชการไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งบริหารของมหาวิทยาลัย
ทุกระดับ

ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขัดหลักนิติธรรม ขัดหลักธรรมาภิบาลและไม่ชอบ

ด้วยกฎหมาย ศาลปกครองระยองได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551

บัดนี้ ศาลได้ นัดฟังคำพิพากษา ใน วันอังคาร ที่ 10 พฤศจิกายน 2552

เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองระยอง (ในบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดระยอง) ห้องพิจารณาคดี 2


รายงานความคืบหน้าจะรายงานต่อไปใน BLOGGER






วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การออกนอกระบบของ ม.บูรพา

เผอิญผมได้เข้าไปอ่านบทความ ที่เว็บไซต์ของ http://www.meechaithailand.com/

http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=4&cateid=08&action=view&id=031677

ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจมากๆ และมีข้อเท็จจริงตรงประเด็นในปัจจุบัน จึงขออ้างอิงเอามาเขียนใน Blog นี้ครับ

การออกนอกระบบของ ม.บูรพา

เรียน ท่าน อ.มีชัย ฤชุพันธุ์

ขอเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบก่อนครับว่าผมเป็นอาจารย์อยู่ที่ ม. บูรพา ครับ

เข้าเรื่องเลยนะครับ

การออกนอกระบบของ ม.บูรพา มาจนถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่เห็นถึงประโยชน์เลยครับ

1. วันก่อนผมพานิสิตไปรักษาตัวที่ศูนย์แพทย์ ของมหาวิทยาลัยครับ ปรากฏว่าต้องจ่ายเงิน ถึงแม้จะเป็นเงินกี่ร้อยบาท แต่ก็งงงงงนะครับ เพราะสมัยที่ผมเรียนผมไม่เคยต้องจ่ายเงินกับเรื่องประเภทนี้ครับ (ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอื่นนะครับ) มหาวิทยาลัยมีกองทุนอะไรตั้งมากมายทำไมไม่ให้เค้าไปหักเงินกันเองละครับ ทำไมต้องให้นิสิตออกเงินไปก่อนแล้วค่อยไปเบิกเงิน ผมไม่เข้าใจจริงๆ

2. มหาวิทยาลัยนี้ไม่มีห้องถ่ายเอกสารข้อสอบครับ อาจารย์ต้องถือข้อสอบไปถ่าย กับร้านที่คณะมีข้อตกลงด้วย สงสัยกลัวข้อสอบรั่วครับ เลยให้อาจารย์เป็นผู้ควบคุมทุกขั้นตอน แต่ยังไงถ้าร้านถ่ายเอกสารทำข้อสอบรั่วแล้วเราจะทราบได้ยังไงครับ (แต่ว่ามหาวิทยาลัยอื่นเค้ามีกันทั้งนั้นนะครับ) ทำไมเค้าไม่ทำห้องถ่ายเอกสารข้อสอบขึ้นมา แล้วก็ให้เงินเดือนคนที่ทำหน้าที่นี้มากๆ ๆ ๆ ตั้งระเบียบให้เข้มงวดซิครับ ป้องกันข้อสอบรั่วไหล

3. ระเบียบเรื่องเงินเดือน บอกว่า เงินเดือนเป็นความลับขั้นสุดยอด แพร่งพรายไม่ได้ แต่ว่าทุกสิ้นเดือนจะมี Slip เงินเดือนที่พับไว้แล้วเย็บด้วย MAX วางไว้ให้ดูใน LOCKER ของทุกคนครับ
แล้ว ก็สงสัยว่า ระเบียบเรื่องเงินเดือน ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการแอบ (หรือไม่ก็เรียกอย่างอื่น) ขึ้นเงินเดือน / เงินประจำตำแหน่งผู้บริหารครับ
ผมว่าก็ไม่ผิดนะครับการที่ผู้บริหารจะมีเงินเดือนสูงๆ

ผู้บริหารมืออาชีพนะ เค้าทำงานหนัก องค์กรเค้ามีประสิทธิผล / ประสิทธิภาพ มีผลกำไร ผลประโยชน์ เห็นกันเป็นรูปเป็นร่าง การที่ได้รับเงินเดือนมากๆ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
แต่ ของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารนะรับทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าสอน เงินวิจัย เงินพิเศษ เงินร้อยแปด ไหนจะไปต่างประเทศ ไปราชการ แล้วอย่างนี้มันจะมีเวลาไปทำงานอะไรให้ได้ดีล่ะครับ นอกจากทำงานกันไปวันๆ ๆ ๆ ๆ
ท่านรับเงินเดือนสูงๆ ๆ ๆ ๆ กันไปเลย แล้วเปิดเผยกันเลยว่าได้เท่าไหร่ ทำงานคุ้มเงินเดือนหรือไม่ ส่วนเงินอย่างอื่นนะไม่ต้องรับ
ทำงานบริหารให้ดีก็พอแล้ว งานอย่างอื่นไม่ต้องไปทำหรอกครับ

Good Governance หน่อยซิครับ

4. E - DOC จ้างบริษัทมาเขียนโปรแกรมซะแสนแพง แต่ไม่ได้ใช้ ไม่รู้ว่า โปรแกรมใช้ไม่ได้ หรือว่า คนไม่กล้าใช้โปรแกรม (http://doc.buu.ac.th)

5. ระบบการทำงานก็ยังคง เช้า 2 ชาม เย็น 1 ชาม เหมือนเดิม งานมี แต่คนมันจะไม่ทำซะอย่างจะทำยังไงได้
ลองไปดูที่กลุ่ม กอง ต่างๆ ตั้งมากมายครับ ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ยกเว้น เงินเดือน กับเงินประจำตำแหน่งที่มากขึ้น
วันๆ เห็นนั่งเล่นโปรแกรม MSN เล่นอินเตอร์เนตกัน บริษัทเอกชนเค้ายังสามารถห้ามพนักงานเล่น MSN + อินเตอร์เนต กันได้เลยครับ
บริษัทเค้าเอาไอ้โปรแกรม MSN + อินเตอร์เนต เนี่ยออกไปจากโปรแกรม Windows กันได้เลย
หรือว่าถ้าอยากเล่นเค้าก็มีโปรแกรมที่เล่นแบบ Intranet ให้เล่นกันไป ไม่ใช่เปิดกว้าง งานการไม่ทำกันแบบนี้

6. วันก่อนผมเคยเข้าไปที่หน้าเวปของอธิการ เห็นมีนิสิตมาร้องเรียนเรื่องรถที่ใช้ทำกิจกรรม หน้าเวปเปิดให้ใช้มาตั้งนานแล้ว แต่มีเรื่องร้องเรียนเพียง 1 เรื่อง
เนื่อง จากต้องเปิดเผยตัวผู้แจ้งเรื่อง แล้วอย่างนี้ใครจะร้องเรียนกันละครับ แต่นิสิตคนที่ร้องเรียนเรื่องรถก็ช่างกลัาหาญซะนี้ น่ายกย่องครับ

7. มหาวิทยาลัยต้องตั้งกองทุนการเงินเกี่ยวกับพนักงานขึ้นมา แต่ผมว่าลองคิดให้ดีนะครับ AIG / เลห์แมนบราเธอร์ ยังล้มเลย นับประสาอะไรกับกองทุนเล็กๆ ที่ตั้งโดยมหาวิทยาลัย ที่อิงกับระบบราชการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม

8. สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ภายหลังจากออกนอกระบบ คือ
- ระเบียบร้อยแปดที่ออกมาโดยไม่ได้มีการเตรียมการที่ดี ขาดการมีส่วนร่วมของพนักงาน / เจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทุกเรื่องเป็นการแจ้งเพื่อทราบ
- การทำงานที่เช้าชาม เย็นชามเหมือนเดิม หรือไม่ก็ทำงานแบบทำกันเป็นประจำทุกวันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- หลักสูตรการศึกษาที่ใช้ระบบ จ่ายครบ จบแน่ๆ (ถ้ามีใครมาตรวจสอบเจอคงจะแย่น่าดู)
- เงินเดือน และ เงินประจำตำแหน่ง ของผู้บริหารที่มากขึ้น
- ร้อยแปด

ผมขอเสนอว่าควรมีการประเมินการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย โดยวิธีปกปิดตัวผู้ให้ข้อมูลครับ
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงครับ ไหนๆ มหาวิทยาลัยก็ออกนอกระบบแล้ว
เราก็ควรทำอะไรให้มันเป็นมืออาชีพกันหน่อยครับผม

ผมมาเรียนให้ท่านทราบเนื่องด้วยว่าท่านอาจารย์เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ครับ
ขอบพระคุณมากครับ

ไม่รู้ว่าผมจะถูกเปิดเผยที่มาด้วยระบบไฟล์ log ของระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ครับ
แต่ก็ไม่เป็นไรครับสบายมาก ชีวิตมันก็เท่านี้

คำตอบ
มหาวิทยาลัย เป็นของประชากรมหาวิทยาลัยทุกคน การบริหารมหาวิทยาลัยย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ถ้าทุกคนสร้างทัศนคติว่ามหาวิทยาลัยเป็นของเราด้วย หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อบกพร่องอย่างไรก็ต้องร่วมกันคิดอ่านแก้ไข ถ้ามัวแต่น้อยเนื้อต่ำใจหรือคิดเป็นปฏิปักษ์ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ไปใหญ่ เรื่องบางเรื่องถ้าสอบถามจากผู้บริหารที่ใกล้ตัว ก็อาจได้รับคำตอบที่กระจ่างถึงเหตุผล หรือถ้าเหตุผลนั้นไม่ดีก็จะได้มีการถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้น ได้ ลองช่วย ๆกันคิดดูนะ
มีชัย ฤชุพันธุ์
27 ตุลาคม 2551